KM 2565

แนวปฏิบัติที่ดี วัน พุธ ที่ 24 พฤษภาคม 2566, เวลา 14:10 น. 92 ครั้ง Admin

 

การจัดการความรู้ ประจำปีการศึกษา 2565

เรื่อง การพิมพ์หนังสือราชการ : หนังสือภายใน (เสนอเต็มรูปแบบ)

ต่อผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------

          หนังสือภายใน คือ หนังสือติดต่อราชการที่เป็นแบบพิธีน้อยกว่าหนังสือภายนอก เป็นหนังสือติดต่อภายในกระทรวง ทบวง กรม หรือจังหวัดเดียวกัน ใช้กระดาษบันทึกข้อความ และจัดทำตามแบบที่กำหนด โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มีการจัดทำแนวการพิมพ์หนังสือราชการ เพื่อเสนอต่อผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ที่เป็นรูปแบบตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย นำไปปรับใช้และถือปฏิบัติ

 

 เตรียมความพร้อมก่อนพิมพ์หนังสือราชการ (หนังสือบันทึกภายใน)

  1. ศึกษา และจดจำรูปแบบของหนังสือราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ ให้ ถูกต้อง และแม่นยำ
  2. เข้าใจในโครงสร้างมาตรฐานที่กำหนดของแนวทางการปฏิบัติ การพิมพ์หนังสือราชการต่อผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ประเภทหนังสือบันทึกภายในที่ใช้การบันทึกเสนอเต็มรูปแบบ (ตามหนังสือ ที่ อว 0651.101(1)/204 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 กองกลางขอแจ้งแนวทางการปฏิบัติ การพิมพ์หนังสือราชการ และการเกษียนหนังสือราชการ)
  3. จัดเตรียมข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องการจะพิมพ์หนังสือราชการ เช่น หนังสือต้นเรื่อง กำหนดการ หรือข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

 

♦ รูปแบบการพิมพ์หนังสือบันทึกภายใน ให้ใช้บันทึกเสนอเต็มรูปแบบที่ประกอบด้วยหัวข้อ ดังต่อไปนี้

          (1) ต้นเรื่อง หรือเรื่องเดิม

                   ต้นเรื่อง  เป็นกรณีเป็นเรื่องเข้าใหม่ ยังไม่เคยมีการดำเนินการในเรื่องนั้นมาก่อน เกริ่นนำถึงความเป็นไปเป็นมา ส่วนนำ ความยาวประมาณ 2 - 5 บรรทัด

                   เรื่องเดิม  เป็นกรณีที่ดำเนินการมาแล้ว โดยสรุปถึงปัญหา ความเป็นมา ที่มา ผู้พิมพ์ ไม่ต้องใส่รายละเอียดมาทุกเหตุการณ์ จะทำให้เกิดความยืดยาว ควรสรุปประเด็นสั้นที่สุด การเขียนควรเน้นให้ตรงประเด็น ความประมาณ 2 - 5 บรรทัด

เทคนิค

     1. ศึกษา และจับประเด็นของเรื่อง วิเคราะห์จุดสำคัญของเรื่องนั้น ๆ ว่าเกี่ยวข้องกับใคร อย่างไร

     2. เคยมีหนังสือทำนองนี้ หรือที่เกี่ยวข้องว่ามีการร่าง และดำเนินการอย่างไร หรือมีปัญหาหรือไม่ เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการดำเนินการ

     3. ย่อเรื่องราว เอาแต่ใจความสาระสำคัญ ซึ่งต้องมีความสมบูรณ์ ชัดเจน

     4. กรณีเป็นเรื่องเดิม มักขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า “ตามที่ ....” แล้วอธิบายประเด็น หรือเหตุผล

     5. กรณีเป็นเรื่องใหม่ มักขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า “ด้วย.....” แล้วอธิบายหลักการหรือเหตุผล

    

 

          (2) ข้อกฎหมาย (ถ้ามี) เป็นการอธิบายเนื้อหาของกฎหมายที่เกี่ยวข้องพอสังเขป โดยอ้างเพียงมาตราหรือหัวข้อ แล้วสรุปให้ถูกต้อง หรือขัดแย้งกับกฎหมาย หรือชี้ให้เห็นถึงอำนาจที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้หากผู้บริหารจำเป็นต้องอ่านให้ทำเป็นเอกสารแนบมาพร้อม

เทคนิค

     1. ศึกษา ค้นคว้า จากกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือประกาศของมหาวิทยาลัย ที่เกี่ยวข้องกับต้นเรื่อง หรือเรื่องเดิมที่จะพิมพ์

     2. ศึกษาจากเรื่องที่มีลักษณะเดียวกันเป็นตัวอย่าง

     3. เลือกเฉพาะมาตรา หรือกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หรือประกาศของมหาวิทยาลัย และประเด็นที่เกี่ยวกับ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้บริหาร ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ/อนุมัติ

     4. ระบุรายละเอียดให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้รับตรวจสอบได้สะดวก

     5. หากเนื้อหาข้อกฎหมายที่นำมาอ้างอิงมีความยาวมากให้ใช้จุดไข่ปลา 3 จุด (...) ปิดท้ายประโยค เช่น

ตัวอย่างที่ 1

        “มาตรา 38 อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินการอื่นที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะพึงปฏิบัติ หรือดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในส่วนราชการเดียวกัน หรือส่วนราชการอื่น เป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนได้...”

          1. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ.2548

“มาตรา 27 อธิการบดีมีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้

              (1) ...

              (2) บริหารบุคลากร การเงิน การพัสดุ สถานที่และทรัพย์สินอื่นของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการและของมหาวิทยาลัย...”

ตัวอย่างที่ 2

          “มาตรา 45 เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการในวิทยาเขต บัณฑิตวิทยาลัย คณะ สถาบัน สำนัก วิทยาลัย และภาควิชาหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ หรือภาควิชา อธิการบดีจะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการ หัวหน้าภาควิชาหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ หรือภาควิชา ปฏิบัติราชการแทนอธิการบดีเฉพาะในราชการของส่วนราชการนั้นก็ได้ ...”   

 

          (3) ข้อเท็จจริง เป็นส่วนเนื้อหาหลัก ใจความ ข้อมูล ประเด็นที่สำคัญของหนังสือเป็นการอธิบายให้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งมีผลสืบเนื่องหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องเดิม หากมีเนื้อหามากควรสรุปให้กระชับ ไม่ควรเกิน 10 บรรทัด อาจยกข้อมูลประกอบไปไว้ในเอกสารแนบ เช่น รายละเอียดของตัวโครงการ ตัวเลขสถิติ ตาราง หรือข้อกฎหมายที่มีความยาวมากเกินไป

เทคนิค

     1. ควรลำดับขั้นตอนของเรื่อง เช่น ลำดับเรื่องที่เคยติดต่อกันมาก่อน ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ลำดับเนื้อหาสาระที่จะกล่าวถึงก่อนหลัง  และลำดับจุดประสงค์ของหนังสือ

     2. หลีกเลี่ยงถ้อยคำที่เป็นคำซ้ำซ้อน คำฟุ่มเฟือย และระมัดระวังคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน

     3. ระบุรายละเอียดวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ชัดเจน

     4. หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ควรชี้แจงถึงแหล่งที่มาของงบ และจำนวนเงินงบประมาณให้ชัดเจน

     5. กรณีเป็นเรื่องการขออนุมัติดำเนินโครงการ ควรระบุรายละเอียดชื่อโครงการ วัตถุประสงค์การจัดโครงการ แหล่งงบประมาณที่ได้รับ จำวนเงินงบประมาณ กำหนดวันที่จัดกิจกรรม และกลุ่มเป้าหมาย ให้ครบถ้วน ชัดเจน

         

          (4) ข้อพิจารณา ความเห็นของผู้พิมพ์หนังสือฉบับนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาของผู้บริหาร ในส่วนนี้มักเข้าใจผิดกันมาก ว่าข้อพิจารณาต้องเป็นความเห็นของผู้บริหาร แต่แท้จริงแล้วนั้นผู้บริหารต้องการทราบความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพราะเจ้าหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรง ย่อมรู้และเสนอข้อคิดเห็นได้แน่นอน ในส่วนของผู้บริหารจะตัดสินใจอย่างไรก็แล้วแต่จะพิจารณา 

          ข้อพิจารณา จะเป็นข้อดี หรือข้อเสีย ที่ปัจจุบันยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต แตกต่างจากข้อเท็จจริง เพราะข้อเท็จจริง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว เป็นความจริงที่เป็นปัจจุบันและสามารถพิสูจน์ได้

เทคนิค

     1. บอกความประสงค์ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริหารสามารถพิจารณาได้อย่างรวดเร็ว

     2. กรณีมีความประสงค์หลายข้อ ให้แยกเป็นข้อๆ

     3. หากข้อพิจารณามีส่วนที่เกี่ยวข้องในการมอบหมาย หรือสั่งการส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องระบุให้ชัดเจน    

 

          (5) ข้อเสนอ เป็นการชี้ประเด็นให้กับผู้บริหารพิจารณาสั่งการ เช่น เพื่อโปรดทราบ เพื่อโปรดให้ความเห็นชอบ เพื่อโปรดพิจารณาอนุมัติ เพื่อโปรดพิจารณาอนุญาต เพื่อโปรดพิจารณาลงนาม เป็นต้น

เทคนิค

     1. ต้องให้สอดคล้องกับข้อพิจารณา

     2. สามารถแยกรายละเอียดข้อเสนอเป็นข้อๆ เพื่อความชัดเจนได้

     3. อ่าน และตรวจทานความถูกต้อง

   

 

 

***************************************